views

ขายของผ่าน Laza.. Shop.. ถ้าไม่ยื่นภาษีเสี่ยงแค่ไหน

HIGHLIGHTS
ข้อมูลในใบกำกับภาษีเอาไปทำอะไรได้บ้าง ถ้าผมเป็นกรมสรรพากรอยากจะหาคนที่มีรายได้จากการขายของใน Laza.. เยอะให้ตั้งสมมุติฐานง่ายๆ เช่น “ใครที่โดน Laza.. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเยอะ แสดงว่ามีรายได้เยอะ” (ปกติแล้วค่าธรรมเนียมที่โดนเรียกเก็บ มักจะคิดเป็น % จากยอดขาย) กรมสรรพากรแค่รวมยอดจากข้อมูลใบกำกับภาษีว่าในแต่ปี เลขประจำตัวผู้เสียภาษีนี้ มียอดจ่ายค่าธรรมเนียมกี่บาท จากนั้นนำเลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่โดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอันดับต้นๆ ไป Match กับข้อมูลการยื่นภาษีประจำปีถ้าแตกต่างกันมากก็แค่ให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเชิญเข้ามาชี้แจงเท่านั้นเอง

มีลูกเพจท่านหนึ่ง Inbox มาสอบถามว่าปัจจุบันขายผ่าน Laza.. ถ้าไม่ยื่นภาษีจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่กรมสรรพากรจะตรวจเจอ เพราะในเรื่องของกฏหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คิดว่าไม่น่าจะโดนเพราะทาง Laza.. โอนเข้าบัญชีธนาคารยังไงก็ไม่ถึง 400 ครั้งต่อปี

พี่คิดว่ายังไงบ้าง?

ผมเชื่อว่าน่าจะมีผู้ประกอบการหลายท่านขายสินค้าผ่าน Laza.. และกำลังลังเลใจอยู่ว่าจะยื่นภาษีหรือไม่ยื่นภาษีดี งั้นผมลองวิเคราะห์เล่น ให้เห็นภาพว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่กรมสรรพากรจะตรวจเจอ

จริงๆ แล้วกรมสรรพากรไม่ได้มีแค่เครื่องมือ “ให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลบุคคลที่เข้าเงื่อนไขธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” เพียงเครื่องมือเดียวเท่านั้น แต่ทางกรมสรรพากรมีเครื่องมืออีกเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบ RBA Audit + Big data ซึ่งระบบนี้น่ากลัวมาก เป็นระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาประมวลผลเพื่อหาผู้ที่มีความเสี่ยงในการหนีภาษี

กรณีของ Laza.. ถ้าผู้ประกอบการที่ค้าขายกับ Laza.. เราจะสังเกตุว่าทาง Laza.. นั้นเวลาที่เค้าเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าที่ขายของ เอกสารใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน (Tax invoice/Receipt) ของ Laza.. เค้าจะไม่ได้ส่งมาในรูปแบบของกระดาษ แต่ทาง Laza.. จะส่งเอกสารเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์คนทั่วไปอาจจะคิดว่ามันก็แค่ไฟล์ PDF ธรรมดาเท่านั้น แต่จริงๆแล้วมันคือไฟล์ PDF ที่ฝัง XML Code ซึ่งเค้าจะฝังข้อมูลว่าเอกสารใบนี้ ผู้จ่ายชำระเงินคือใคร, เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอะไร, สินค้าหรือบริการอะไรบ้าง, ยอดเงินกี่บาท ทางกรมสรรพากรแค่เขียนโปรแกรมเพื่อจัดเก็บข้อมูล XML ที่มาพร้อมกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบ Big data ก็จะได้ข้อมูลทุกใบกำกับภาษีเข้าไปในฐานข้อมูลของกรมสรรพากร

ข้อมูลในใบกำกับภาษีเอาไปทำอะไรได้บ้าง ถ้าผมเป็นกรมสรรพากรอยากจะหาคนที่มีรายได้จากการขายของใน Laza.. เยอะให้ตั้งสมมุติฐานง่ายๆ เช่น “ใครที่โดน Laza.. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเยอะ แสดงว่ามีรายได้เยอะ” (ปกติแล้วค่าธรรมเนียมที่โดนเรียกเก็บ มักจะคิดเป็น % จากยอดขาย)

กรมสรรพากรแค่รวมยอดจากข้อมูลใบกำกับภาษีว่าในแต่ปี เลขประจำตัวผู้เสียภาษีนี้ มียอดจ่ายค่าธรรมเนียมกี่บาท จากนั้นนำเลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่โดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอันดับต้นๆ ไป Match กับข้อมูลการยื่นภาษีประจำปีถ้าแตกต่างกันมากก็แค่ให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเชิญเข้ามาชี้แจงเท่านั้นเอง

อ่านมาถึงตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะได้คำตอบแล้วว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่กรมสรรพากรจะตรวจพบกรณีที่มีขายได้จากการขายของใน Laza.. แต่ไม่ได้ยื่นภาษี

ปล. ทั้งหมดที่เขียนผมมโนขึ้นมาเอง ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลจากแหล่งไหนครับ หวังว่ากรมสรรพากรจะไม่ได้ใจตรงกับผมนะครับ


May 29, 2020
by ครูนัท

- ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต
- ที่ปรึกษาทางด้านภาษี
- อาจารย์พิเศษ