views

เมื่อไหร่เราถึงจะต้องจดทะเบียนสาขาเพิ่ม?

HIGHLIGHTS
เราจะจดทะเบียนสาขาก็ต่อเมื่อเรามีสถานประกอบการมากกว่า 1 แห่ง ซึ่งคำว่า สถานประกอบการ หมายถึง สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำและให้หมายความรวมถึงสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย ใช้ประกอบกิจการ เช่น หน้าร้านขายสินค้า, ใช้ผลิต เช่น โรงงานผลิตสินค้า หรือใช้เก็บสินค้า เช่น โกดังเก็บสินค้า หากแต่ใช้เพียงการชั่วคราวไม่เข้าลักษณะของสถานประกอบการ ไม่ต้องจดทะเบียนสาขา

เราจะจดทะเบียนสาขาก็ต่อเมื่อเรามีสถานประกอบการมากกว่า 1 แห่ง

สถานประกอบการ หมายถึง สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำและให้หมายความรวมถึงสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย

กรณีต่อไปนี้ไม่ต้องจดทะเบียนสาขา

  • เราเป็นกิจการรับเหมาก่อสร้าง ไปก่อสร้างบ้านให้ลูกค้า หน่วยก่อสร้างชั่วคราวไม่ต้องจดทะเบียนสาขา
  • จ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าให้เรา โดยไม่มีพนักงานของเราไปปฏิบัติงาน หรือให้บริการลูกค้า เมื่อผลิตเสร็จผู้รับจ้างผลิตก็ส่งสินค้าคืนให้กับเรา ไม่เข้าเงือนไขสถานประกอบการประจำ ไม่ต้องจดทะเบียนสาขา
  • กรณีบริษัทเช่าโกดังเก็บสินค้า และผู้รับฝากรับผิดชอบในการดูแลรักษาสินค้าของเรา ถ้าเกิดมีการเสียหาย สูญหาย ผู้รับฝากต้องรับผิดชอบเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับฝากทรัพย์ รวมทั้งบริษัทไม่มีสิทธิครอบครองคลังสินค้าที่ใช้จัดเก็บสินค้า จึงไม่ถือเป็นสถานที่เก็บสินค้าเป็นประจำ ไม่ต้องจดทะเบียนสาขา
  • ไปเปิดบูธขายสินค้าหรือแนะนำสินค้าตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ไม่ต้องจดทะเบียนสาขา เนื่องจากเราไม่ได้ประกอบกิจการเป็นประจำ

ผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการมากกว่า 1 แห่งจะต้องทำการจดทะเบียนเพิ่มสาขา สรรพากรมีกำหนดโทษเกี่ยวกับการเพิ่มสถานประกอบการสาขา โดยไม่แจ้งเพิ่มล่วงหน้าอาจต้องระวางโทษอาญาตามมาตรา 90/1 คือปรับไม่เกินห้าพันบาท

ค่าปรับอาจจะเล็กน้อยแค่ 5,000 บาท แต่ถ้าสรรพากรเล่นใหญ่มาก ผู้ประกอบการอาจจะร้องขอชีวิต ยกตัวอย่างเช่น
▶️ ️ใบกำกับภาษีซื้อ ปกติเวลาเราซื้อสินค้าจะต้องมีการระบุสาขาที่ใช้ใบกำกับภาษีซื้อ แสดงว่าใบกำกับภาษีซื้อจะต้องเคลมให้ตรงสาขา ดังนั้นภาษีซื้อที่เกี่ยวกับสาขาดังกล่าว สรรพากรสามารถตีเป็นภาษีซื้อต้องห้ามได้

▶️ ในกรณีเรามีการเปิดหน้าร้านขายสินค้าอีกแห่งหนึ่งนอกจากสำนักงานใหญ่ แต่เนื่องจากปัญหาต่างๆ เราจึงไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนสาขาเพิ่มให้ถูกต้อง ในการขายสินค้าให้ลูกค้าใบกำกับภาษีขายจะมีให้กำหนดสาขาที่ออกใบกำกับภาษี เนื่องจากเรายังไม่ได้จดทะเบียนสาขา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะระบุสาขาที่ออกใบกำกับภาษีขายเป็น “สำนักงานใหญ่” ซึ่งเป็นการออกใบกำกับภาษีขายไม่ถูกต้องก็จะเป็นเรื่องใหญ่

ดังนั้นใครที่มีสถานประกอบการหลายแห่งควรที่จะจดทะเบียนเพิ่มสาขาให้ถูกต้องนะครับ


April 18, 2020
by ครูนัท

- ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต
- ที่ปรึกษาทางด้านภาษี
- อาจารย์พิเศษ