views

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลงทุนในทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงานสำเร็จรูป

วันที่: 22 พฤษภาคม 2561
เลขที่หนังสือ

กค 0702/3894

วันที่

22 พฤษภาคม 2561

ข้อกฎหมาย

พระราชกฤษฎีกา ( ฉบับที่ 604) พศ. 2559

เลขตู้

81/40671

ข้อหารือ

          1.บริษัทฯ ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างและตกแต่งภายใน บริษัทฯ มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน

          2.เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินและอาคารโรงงานสำเร็จรูปในนิคมอุตสาหกรรม จากบริษัท ซึ่งเป็นผู้พัฒนาที่ดิน โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดิน และมีการขออนุญาตก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 รวมมูลค่าที่ดิน อาคารโรงงานสำเร็จรูป และค่าธรรมเนียมในการโอนเป็นจำนวนเงิน 38,481,032 บาท

          3.บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า กรณีอาคารโรงงานสำเร็จรูปที่บริษัทฯ ซื้อมานั้น บริษัทฯ สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 เบญจ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธินำรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อซื้ออาคารโรงงานสำเร็จรูปดังกล่าว ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้ ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          1.กรณีบริษัทฯ มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ได้ซื้อที่ดินและอาคารโรงงานสำเร็จรูป หากบริษัทฯ ใช้อาคารโรงงานดังกล่าวเป็นทั้งนักงานและโรงงาน บริษัทฯ ไม่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้เป็นกรณีพิเศษตามมาตรา 4 เบญจ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

          2.กรณีบริษัทฯ ได้ซื้ออาคารโรงงานสำเร็จรูป เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เนื่องจากข้อ 2 วรรคสาม ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 270)ฯ ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการลงทุนในทรัพย์สินประเภทอาคารถาวร ตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ไว้ว่า ไม่รวมถึงการลงทุนโดยการซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินนั้นมา ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 แต่อย่างใด