views

เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์

วันที่: 10 สิงหาคม 2561
เลขที่หนังสือ

กค.0702/พ.6297

วันที่

10 สิงหาคม 2561

ข้อกฎหมาย

มาตรา 81(1) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

81/40755

ข้อหารือ

          บริษัท ฯ หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์ โดยมีข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติดังนี้

          1. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด

          2. บริษัทฯ จะผลิตและจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ S ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญ

               - GLUTARALDEHYDE 15% W/W

               - ALKYL BENZYL DIMETHYL AMMONIUM CHLORIDE 10% W/W

               - POLYETHOXYLATED NONYL PHENOL 3% W/W

          เพื่อใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สำหรับเครื่องมือ เครื่องจักรในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายจากกรมปศุสัตว์ และมีการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ดังนี้

               (1) สำนักเครื่องสำอางค์และวัตถุอันตราย กระทรวงสาธารณสุข (สำนักเครื่องสำอางค์ฯ กระทรวงสาธารณสุข) จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ S โดยการนำมาผสมน้ำในอัตราส่วน 1 160 นำไปฉีดพ่นพื้นแข็งที่ไม่มีรูพรุนทิ้งไว้ 10 นาที พบว่า มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ชื่อ SALMONELLA CHOLERAESUIS ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงและท้องเสียในสุกรและสัตว์ปีก โรคโลหิตเป็นพิษและโรคลำไส้อักเสบในสุกรหย่านม หรือสุกรขุน ช่วงอายุ 10-16 สัปดาห์ และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคอหิวาต์สุกร โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบติดต่อ และโรคท้องร่วงจากเชื้อ E.coli เป็นต้น และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ชื่อ STAPHYLOCOCCUS AUREUS ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจในสุกรและสัตว์ปีก โรคปอดอักเสบ โรคเต้านมอับเสบ โรคมดลูกอับเสบ โรคไขกระดูกอับเสบ (OSTEOMYELITIS) โรคโพรงข้อต่อมีหนอง (PYOARTHROSIS) โรคการติดเชื้อบนกระแสเลือดและเยื่อบุหัวใจอับเสบ โรคลำไส้อักเสบ (ENTEROCOLITIS) โรคอาหารเป็นพิษและช็อก (TOXIC SHOCK SYNDROME,TSS) เป็นต้น

               (2) ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตว์แพทย์ ก. (ภาควิชาจุลชีวฯ ก.) จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ S โดยดำเนินการเจือจาง (DILUTION) ที่ความเข้มข้น 1 100 1 200 1 400 1 800 1 1,600 และ 1 3,200 และความเข้มข้นของเชื้อไวรัส 10-10 และใส่ยาฆ่าเชื้อลงไปหลุมละ 100 ไมโครลิตร พบว่า มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส (PRRSV,PORCINC REPRODUCTIVE AND RESPIRATORY SYNDROME VIRUS) สายพันธุ์อเมริกาเหนือไอโซเลต และสายพันธุ์ยุโรป ไอโซเลต VR 2332 และ S2/54 ST-1 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร ทำให้แม่สุกรแท้งลูกตายแรกคลอดสูง อัตราการผสมติดต่ำ ลูกสุกรแคระแกร็น โตช้า ติดโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนได้ง่าย และฆ่าเชื้อไวรัสพีดีอี (PDE,PORCINC EQIDEMIC DIARRHEA VIRUS) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร

               (3) บริษัท ข.ศูนย์วิทยาศาสตร์ จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ ไซต้า-รัล โดยการนำมาผสมน้ำกระด้างที่ระดับ 200 400 600 ppm และน้ำประปาที่ไม่มีคลอรีนในอัตราส่วน 1 160 แล้วนำไปฉีดพ่นบริเวณที่ต้องการฆ่าเชื้อในสภาวะที่มีสารอินทรีย์ปกคลุม โดยในการทดสอบใช้ 3% BOVINE ALBUMIN และ NEUTRALIZER N-BUFFER พบว่า มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย SAIMONELLA ENTERITIDIS ATCC 13037 และ STAPHYLOCOCOCCUS AUREUS ATCC 6538 ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคสำคัญ เนื่องจากน้ำที่ใช้ในฟาร์มปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นน้ำกระด้าง

          3. บริษัทฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายกับกรมปศุสัตว์ และแก้ไขฉลากสินค้า เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เท่านั้น บริษัทฯ เพื่อขอทราบว่า ผลิตภัณฑ์ S ถือเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์ และได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          กรณีบริษัทฯ ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนในใบสำคัญผลิตภัณฑ์S กับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความหัวข้อประโยชน์จาก S เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สำหรับเครื่องมือ เครื่องจักร ในโรงฆ่าสัตว์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เป็น S เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สำหรับพื้น ผนัง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งใบขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายของบริษัทฯ จากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ปรากฏข้อความว่า วัตถุอันตรายดังกล่าวใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว บริษัทฯ ผู้ผลิตและจำหน่ายจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร