views

เรื่อง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนสัมปทานปิโตรเลียม

วันที่: 20 ธันวาคม 2561
เลขที่หนังสือ

กค 0702/9707

วันที่

20 ธันวาคม 2561

ข้อกฎหมาย

พระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม มาตรา 4,22 (4) 20,26 (1) (2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 77/2 (1), 79, 80, 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

81/40826

ข้อหารือ

          ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนสัมปทานปิโตรเลียม

          1.บริษัท S (บริษัทฯ) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ โดยมีสำนักงานในประเทศไทย ถือสัมปทาน เลขที่ 3 และเลขที่ 5 ในอัตราร้อยละ 22.2222 และ บริษัท T (T) เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทฯ ถือสัมปทานเลขที่ 71 ในอัตราร้อยละ 22.2222 วันที่ 31 มกราคม 2561 บริษัทฯ และ T ได้โอนสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวให้แก่บริษัท P (P) และบริษัท PI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ P ดังนี้

               1.1บริษัทฯ โอนสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 3 (หมายเลขแปลงสำรวจ B16 และ B17) และเลขที่ (หมายเลขแปลงสำรวจ B15) ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และในปัจจุบันอยู่ในช่วงระยะเวลาผลิต ให้แก่ P

               1.2T โอนสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 71 (แปลงสำรวจหมายเลข G12/48) ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 ปัจจุบันอยู่ในช่วงระยะเวลาสำรวจและยังไม่มีรอบระยะเวลาบัญชีแรก ให้แก่ PI

               1.3การโอนสัมปทานตาม 1.1 และ 1.2 เป็นการโอนสัมปทานตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (บริษัทฯ ได้รับอนุญาตวันที่ 21 มิถุนายน 2561)

          2.การโอนสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าว ได้กำหนดค่าตอบแทนไว้ 3 ส่วน ดังนี้

               2.1ส่วนที่ 1 P และ PI จะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทฯ และ T ในวันที่การโอนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยในส่วนที่ P จ่ายให้แก่บริษัทฯ กำหนดไว้เป็นจำนวน 666,000,000 เหรียญสหรัฐ และในส่วนที่ PI จ่ายให้แก่ Tกำหนดไว้เป็นจำนวน 15,000,000 เหรียญสหรัฐ

               2.2ส่วนที่ 2 P ตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่บริษัทฯ เป็นจำนวน 69,000,000 เหรียญสหรัฐ หากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน หรือหน่วยงานรัฐอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิในสัมปทานปิโตรเลียม ได้มีการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยัง P หรือบริษัทในกลุ่ม เพื่อให้สิทธิในการต่อสัมปทานในแปลงที่โอน หรืออนุญาตให้ P หรือบริษัทในกลุ่มเข้าทำสัญญาแบ่งปันผลผลิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่โอนต่อไปตามข้อตกลงที่กำหนดตามสัญญาโอนสัมปทานปิโตรเลียม

               2.3ส่วนที่ 3 P และ PI ตกลงชำระค่าตอบแทนเท่ากับจำนวนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่บริษัทฯ และ T ต้องจ่ายให้กรมสรรพากรจากการโอนสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าว โดย P และ PI ตกลงจะชำระให้บริษัทฯ และ T ไม่น้อยกว่า 5 วันทำการก่อนวันครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจากการโอนสัมปทานปิโตรเลียม

          3.หลังการโอนสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าว บริษัทฯ และ T ไม่ได้ถือสัมปทานแปลงใดอีก อย่างไรก็ดี ภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาโอนสัมปทานปิโตรเลียม บริษัทฯ และ T จะคงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการในประเทศไทยและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่อไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี นับแต่วันที่การโอนสัมปทานปิโตรเลียมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตราบเท่าที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยอนุญาตให้กระทำได้ และจัดเตรียมงบการเงินที่ตรวจสอบและรับรองโดยผู้สอบบัญชี และจัดเตรียมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พร้อมทั้งนำส่งให้กับกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลาแต่ละปี จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด 5 ปี ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนึ่งในเงื่อนไขและข้อตกลงการโอนตามสัญญาโอนสัมปทานปิโตรเลียม บริษัทฯ และ T จะมีภาระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการโอนสัมปทานปิโตรเลียมตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น อย่างไร

แนววินิจฉัย

          1.เนื่องจากตามสัญญาโอนสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าว บริษัทฯ และ T มีข้อผูกพันที่จะต้องคงสภาพกิจการในประเทศไทย รวมทั้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาโอนสัมปทานปิโตรเลียมต่อไปเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่การโอนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้น ภายหลังจากการโอนสัมปทานดังกล่าว บริษัทฯ และ T จึงยังมิได้เลิกประกอบกิจการปิโตรเลียม ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หากแต่ยังคงประกอบกิจการปิโตรเลียมต่อไป โดยยังคงมีกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการปิโตรเลียม ตามบทนิยามคำว่า กิจการปิโตรเลียม ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าบทนิยามคำว่า กิจการปิโตรเลียม ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

          2.เนื่องจากค่าตอบแทนการโอนสัมปทานดังกล่าว ผู้โอนและผู้รับโอนสามารถกำหนดเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ ดังนี้

               2.1ในส่วนของบริษัทฯ ค่าตอบแทนจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน กล่าวคือ ส่วนที่ 1 จำนวน 666,000,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนที่ 2 จำนวน 69,000,000 เหรียญสหรัฐ และส่วนที่ 3 ได้แก่จำนวนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร

               2.2ในส่วนของ T ค่าตอบแทนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ ส่วนที่ 1 จำนวน 15,000,000 เหรียญสหรัฐ และส่วนที่ 2 ได้แก่ จำนวนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ T ต้องจ่ายให้กรมสรรพากร ดังนั้น ค่าตอบแทนการโอนทุกส่วน จึงเข้าลักษณะเป็นยอดเงินได้จากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม ซึ่งอาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ตามมาตรา 22 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 อนึ่ง แม้ว่าค่าตอบแทนการโอนในส่วนที่ 2 (ในกรณีของบริษัทฯ) จำนวน 69,000,000 เหรียญสหรัฐ จะมีเงื่อนไขในการจ่าย กล่าวคือ P จะจ่ายต่อเมื่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน หรือหน่วยงานรัฐอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิในสัมปทานปิโตรเลียม ได้มีการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยัง P หรือบริษัทในกลุ่ม เพื่อให้สิทธิในการต่อสัมปทานในแปลงที่โอน หรืออนุญาตให้เข้าทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงที่โอนก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าว มิได้มีผลให้ค่าตอบแทนในส่วนที่ 2 ซึ่งกำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว (69,000,000 เหรียญสหรัฐ) กลับกลายเป็นเงินค่าสิทธิ เงินปี หรือเงินได้ประจำเนื่องจากการโอน ซึ่งไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หรือ overriding royalty แต่อย่างใด

          3.ดังนั้น กรณีการโอนสัมปทานปิโตรเลียมตามข้อเท็จจริงข้างต้น จึงอาจพิจารณาภาระภาษีได้ ดังนี้

               3.1ในส่วนของบริษัทฯ

               (ก) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

               เนื่องจากสัมปทานปิโตรเลียมแปลงที่โอนนั้น อยู่ในช่วงระยะเวลาผลิตซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามมาตรา 26 (1) วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แล้ว ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนการโอนทั้ง 3 ส่วนมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยถือเป็นเงินได้จากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมซึ่งอาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ตามมาตรา 22 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และในการรับรู้รายได้และการคำนวณกำไรสุทธิของค่าตอบแทนในแต่ละส่วนนั้น ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ตามมาตรา 26 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

               (ข) ภาษีมูลค่าเพิ่ม

               เนื่องจากการโอนสัมปทานปิโตรเลียม เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าโดยผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนการโอนมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 79 มาตรา 80 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีรูปร่างเกิดขึ้น ตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างเกิดขึ้น ตามมาตรา 78/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

               3.2ในส่วนของ T

               (ก) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

               เนื่องจาก T ยังไม่มีรอบระยะเวลาบัญชีแรก ตามมาตรา 26 (1) วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 (สัมปทานแปลงที่โอนยังอยู่ในช่วงระยะเวลาสำรวจ และยังไม่มีการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงเป็นครั้งแรก) ดังนั้น T จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนการโอนทั้ง 2 ส่วน มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยให้ถือวันโอนเป็นวันแรกและวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 26 (1) วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยในการคำนวณรับรู้รายได้และการคำนวณกำไรสุทธิของค่าตอบแทนในแต่ละส่วน ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ตามมาตรา 26 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

               (ข) ภาษีมูลค่าเพิ่ม

               เนื่องจากการโอนสัมปทานปิโตรเลียม เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าโดยผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนการโอนมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 79 มาตรา 80 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีรูปร่างเกิดขึ้น ตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างเกิดขึ้น ตามมาตรา 78/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร