views

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขออนุมัติหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน

วันที่: 10 มีนาคม 2565
เลขที่หนังสือ

กค 0702/1406

วันที่

10 มีนาคม 2565

ข้อกฎหมาย

มาตรา 3 เตรส , มาตรา 50 ทวิ , มาตรา 52 , มาตรา 59

เลขตู้

85/51345

ข้อหารือ

บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าและบริการคลังสินค้า ในการประกอบกิจการ ของบริษัทฯ มีลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าและบริการคลังสินค้าซึ่งประกอบด้วยนิติบุคคล องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทฯ จะออก ใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าบริการไปยังลูกค้า ซึ่งลูกค้าของบริษัทฯ สามารถเลือกชำระเงินให้ บริษัทฯ ได้หลายช่องทาง เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระเงินแล้ว บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษี พร้อมใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกค้าต่อไป และเนื่องจากลูกค้าขาดความรู้ความเข้าใจในการหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทำให้ลูกค้าหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องชี้แจง และแจ้งให้ลูกค้าแก้ไขหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยเฉลี่ยจำนวน 600 ฉบับ ต่อเดือน ดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระในการติดตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัทฯ จึงขออนุมัติเป็นตัวแทนดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายออกหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินค่าบริการขนส่งสินค้าและค่าบริการคลังสินค้า หรือค่าบริการอื่น ๆ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (๘) แห่งประมวลรัษฎากร ลูกค้าที่ใช้บริการดังกล่าว จึงเป็นผู้จ่ายเงินได้และมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยผู้จ่ายเงินดังกล่าวมีหน้าที่ต้องออกหนังสือ รับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับบริษัทฯ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการและนำส่ง ภาษีที่ได้หักไว้ ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
 2. กรณีบริษัทฯ มีความประสงค์เป็นตัวแทนของผู้จ่ายเงินได้เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการกระทำแทน ตัวการ บริษัทฯ สามารถกระทำได้ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ ผู้จ่ายเงินจะต้องจัดทำสัญญาตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้บริษัทฯ กระทำการแทน เป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวแทน ดำเนินการ ดังนี้
   2.1 กรณีบริษัทฯ มีหนังสือแจ้งไปยังผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายซึ่งเป็น ผู้จ่ายเงินรายเดิม โดยมีสาระสำคัญว่า “บริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับ เงินค่าบริการขนส่งสินค้าและค่าบริการคลังสินค้า หรือค่าบริการอื่น ๆ ออกหนังสือรับรองการ หักภาษี ณ ที่จ่ายแทน และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน” โดยกำหนด ระยะเวลาให้ผู้จ่ายเงินนั้นตอบรับ เมื่อผู้จ่ายเงินตอบรับแล้วให้ถือว่าหนังสือแจ้งฉบับดังกล่าวเป็น ข้อตกลงแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนได้ แต่สำหรับผู้จ่ายเงินรายใหม่จะต้องมีการแต่งตั้ง ตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดแจ้ง
   2.2 กรณีบริษัทฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าบริการขนส่งสินค้าและค่าบริการ คลังสินค้า หรือค่าบริการอื่น ๆ แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผ่อนผันให้ผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือ รับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าบริการขนส่งสินค้าและค่าบริการคลังสินค้า หรือ ค่าบริการอื่น ๆ ให้กับบริษัทฯ ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน แต่บริษัทฯ ต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และบริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว รายละเอียดของรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
     (ก) คำว่า “รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประจำเดือน ... พ.ศ. ....” ในที่ที่เห็น ได้เด่นชัด
     (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยมี ข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”
     (ค) ประเภทเงินได้
     (ง) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษี ที่หักไว้
     (จ) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
   2.3 เพื่อเป็นการรับรองว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว ให้บริษัทฯ ระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีของเงิน ค่าบริการขนส่งสินค้าและค่าบริการคลังสินค้า หรือค่าบริการอื่น ๆ โดยมีข้อความว่า “บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ... เป็นจำนวน ... บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะ ดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป”.ซึ่งบริษัทฯ จะต้องจัดให้มีการ SCAN.หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือ ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
   2.4 ให้บริษัทฯ ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 โดยระบุในช่อง ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ว่า “บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน” ในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีเงินได้ที่หัก และให้ ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 ด้วยซึ่งจะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือ ภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษี ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
   2.5 ให้บริษัทฯ ใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับ ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวล รัษฎากร