views

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับรู้รายได้ค่าเช่า

วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2566
เลขที่หนังสือ

กค 0702/537

วันที่

1 กุมภาพันธ์ 2566

ข้อกฎหมาย

มาตรา 65 และคำสั่ง ท.ป. 1/2528ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528

เลขตู้

-

ข้อหารือ

บริษัท ก. (บริษัทฯ) ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ทำสัญญาเช่าระยะยาวกับ บริษัท ข. เป็นระยะเวลา 30 ปี เรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายปีและขึ้นค่าเช่าในอัตราร้อยละ 10 ทุก ๆ 3 ปี โดยมิได้เรียกเก็บค่าหน้าดินหรือเงินประกัน หรือ เงินอย่างอื่นล่วงหน้าแต่อย่างใด อัตราเช่ามีการกำหนดโครงสร้างให้มีจำนวนต่ำในปีแรก และสูงขึ้นในปีหลัง
  การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ค่าเช่าแต่ละปีตามจำนวนที่ระบุ ไว้ในสัญญาเช่า มิใช่นำค่าเช่ารวมทุกปีมาเฉลี่ยรับรู้ตามวิธีเส้นตรง จึงหารือว่าความเห็น ของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่อย่างไร และบริษัทฯ มีความเข้าใจว่าบริษัทฯ สามารถเปลี่ยนวิธีการ คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเกณฑ์สิทธิเป็นวิธีการคำนวณจากรายได้ตามสัญญาเช่าได้หรือ ตามเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป หากได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลง จากอธิบดีกรมสรรพากร ใช่หรือไม่

แนววินิจฉัย

ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคล มาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ใช้เกณฑ์สิทธิ สำหรับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สินนั้น ตามข้อ 3.4 ของคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่ง กรมสรรพากร ที่ ท.ป. 299/2561 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่าย ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561 กำหนดให้ต้องนำ รายได้ค่าเช่าหรือค่างวดและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องมารวมคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายใน แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามส่วนแห่งระยะเวลาการให้เช่าทรัพย์สิน ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่อาจรับรู้รายได้ค่าเช่าตามที่บริษัทฯ กล่าวมาได้ แต่ต้องนำรายได้ค่าเช่าทั้งหมด ตามสัญญาการเช่า 30 ปี มาเฉลี่ยรับรู้เป็นรายได้สำหรับแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3.4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 1/2528ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 299/2561ฯ ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561