views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์

วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2566
เลขที่หนังสือ

กค 0702/539

วันที่

1 กุมภาพันธ์ 2566

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40 (5) มาตรา 56

เลขตู้

-

ข้อหารือ

1. นางสาว ก. และพวก ได้แก่ นาง ข. นาย ค. นาย ง. นาย จ. และนางสาว ฉ. เป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินจำนวน 4 แปลง ซึ่งมีการบรรยายส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์ของ แต่ละคนไว้ในสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดิน
  2. นางสาว ก. และพวก มีความประสงค์จะให้เช่าที่ดินทั้ง 4 แปลง โดยจะทำสัญญาเช่า แยกกันคนละฉบับตามสัดส่วนที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์ และให้ผู้เช่าหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากเงินค่าเช่าและค่าเช่ารับล่วงหน้าที่ต้องจ่ายให้แต่ละคนตามสัญญาเช่า ซึ่งนางสาว ก. และพวก จะนำเงินที่แต่ละคนได้รับดังกล่าวไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาในนามของแต่ละบุคคลแยกต่างหากจากกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา กับผู้เช่าที่ดิน
  3. นางสาว ก. เข้าใจว่า นางสาว ก. และพวก สามารถนำเงินค่าเช่าและค่าเช่ารับล่วงหน้าที่ แต่ละคนได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของตนเองได้ ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้เช่าจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย พร้อมทั้ง ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่นางสาว ก. และพวก เป็นรายบุคคล โดย นางสาว ก. และพวก สามารถนำเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งไว้ดังกล่าวไปถือเป็น เครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของแต่ละคนได้ ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้อง หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

1. การบรรยายส่วนของที่ดินที่จะถือว่าแต่ละคนเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามส่วนของ แต่ละคนแยกต่างหากจากกันได้นั้น จะต้องมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ส่วนของใครอยู่ ตรงไหน หรือบุคคลใดถือครองที่ดินส่วนใดหรือแปลงใดไว้เป็นการเฉพาะ มีกรรมสิทธิ์ เป็นจำนวนเนื้อที่คนละเท่าใด อยู่ตรงไหนตามรูปแผนที่แสดงแนวเขตของแต่ละส่วนอย่าง ชัดแจ้ง
  2. กรณีนางสาว ก. และพวก ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินจำนวน 4 แปลง โดยบรรยาย ส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์ของแต่ละคนไว้ในสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินแต่ละฉบับ ซึ่งการบรรยายส่วนดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่า ส่วนของใครอยู่ ตรงไหน หรือบุคคลใดถือครองที่ดินส่วนใดหรือแปลงใดไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินของบุคคลหลายคนรวมกัน ตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การจดบรรยายส่วนของนางสาว ก. และพวก ในสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินจึงเป็นเพียงการกำหนดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในระหว่างผู้เป็นเจ้าของรวมด้วยกันอันเป็นการยกเว้นบทสันนิษฐานของมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกัน มีส่วนเท่ากันเท่านั้น หาได้เป็นผลทำให้นางสาว ก. และพวก พ้นสภาพจากการ เป็นเจ้าของรวมไม่
  3. กรณีนางสาว ก. และพวก นำที่ดินตาม 1. ออกให้เช่า เงินค่าเช่าและเงินค่าเช่า รับล่วงหน้าที่นางสาว ก. และพวก ได้รับย่อมเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร นางสาว ก. และพวก ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าว มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามห้างหุ้นส่วนสามัญ (ห้างฯ) ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยห้างฯ จะต้องนำเงินได้ทั้งจำนวน มายื่นแบบแสดง รายการและชำระภาษีเงินได้ในปีที่ได้รับเงินนั้น หรือจะขอเฉลี่ยเงินค่าเช่า รับล่วงหน้าตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าและชำระภาษีเงินได้จากเงินค่าเช่ารับ ล่วงหน้าที่เฉลี่ยเป็นรายปี ตามจำนวนปีของอายุการเช่าของทุกปีที่เฉลี่ย เป็นการล่วงหน้า ให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินนั้นตามประกาศ กระทรวงการคลัง เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินที่ได้รับ เงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือน ที่ได้รับกรรมสิทธิ์หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ก็ได้ แต่นางสาว ก. และพวก ไม่อาจแยกยื่นแบบแสดงรายการในนามแต่ละบุคคลได้