views

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ้างเหมาบริการบุคคลธรรมดาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535

วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2566
เลขที่หนังสือ

กค 0702/549

วันที่

1 กุมภาพันธ์ 2566

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40 (2) มาตรา 50 (1)

เลขตู้

-

ข้อหารือ

1. กรม A. (หน่วยงานราชการ) ได้ทำสัญญาจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอก ประกอบด้วย การจ้างบุคคลธรรมดาเป็นพนักงาน พนักงานขับรถยนต์ พนักงานทำความสะอาด และอื่น ๆ มีลักษณะมุ่งผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้างภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นสำคัญ อัตราจ้างของ ทุกตำแหน่ง ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
  2. การจ้างเอกชนดังกล่าว กรม A. ได้ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่กระทรวงการคลังได้แจ้งเวียนหลักเกณฑ์ การจ้างเอกชนดำเนินงานในลักษณะการจ้าง บุคคลธรรมดาดำเนินงาน โดยให้หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ได้รับมอบหมายจ้างเอกชน ดำเนินการเฉพาะโครงการ หรือเฉพาะครั้งคราวที่มีความจำเป็นเพื่อเสริมการปฏิบัติงาน ในหน้าที่ปกติของส่วนราชการ และการจ้างเอกชนดำเนินการดังกล่าวให้ถือปฏิบัติตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผู้รับจ้าง เหมาบริการมีฐานะเป็นผู้รับจ้างทำของตามข้อตกลงการจ้าง หรือสัญญาการจ้างตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ถือเป็นบุคลากร ของรัฐที่จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ สวัสดิการ ที่พึงได้รับจากทางราชการเช่นเดียวกับข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หรือบุคลากรอื่นของรัฐได้รับเป็นเพียงผู้รับจ้างทำของ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับรัฐในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกรม A. หารือว่า การจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกดังกล่าว จะต้องดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร

แนววินิจฉัย

กรณีกรม A. ทำสัญญาจ้างเหมาบริการกับผู้รับจ้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาโดยได้ปฏิบัติตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับ หนังสือแจ้งเวียนหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว โดยได้มีการจ้างที่มุ่งผลสำเร็จ ของงานที่ว่าจ้างภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นสำคัญ มีการจ่ายค่าจ้าง เป็นรายเดือน โดยผู้รับจ้างจะต้องปฏิบัติ หน้าที่ตามสัญญาการจ้างเหมาบริการซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ การจ้างเอกชนดำเนินงานของ กระทรวงการคลัง กล่าวคือ ผู้รับจ้างไม่ถือเป็นบุคลากรของรัฐที่จะได้รับสวัสดิการจากทาง ราชการ เป็นเพียงผู้รับจ้างทำของ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับรัฐในฐานะนายจ้างลูกจ้าง เงินค่าจ้าง ที่กรม A. จ่ายให้ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างเหมาบริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้ พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร กรม A. ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร