views

อากรแสตมป์ กรณีขอขยายกำหนดเวลาการชำระอากรแสตมป์

วันที่: 8 มีนาคม 2566
เลขที่หนังสือ

กค 0702/1301

วันที่

8 มีนาคม 2566

ข้อกฎหมาย

มาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง มาตรา 113 มาตรา 116

เลขตู้

-

ข้อหารือ

  1. บริษัท ก. (บริษัทฯ) ได้ทำสัญญารับซื้อฝากห้องชุดคอนโดมิเนียม มีกำหนดเวลา 12 เดือน บริษัทฯ ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 และใน วันที่ 31 มีนาคม 2558 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาแบ่งไถ่ถอนการขายฝากห้องชุด โดยได้ชำระภาษี ธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว
  2. ต่อมา บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะตามแบบคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) เดือนภาษีมีนาคม 2558 เนื่องจากบริษัทฯ ทราบว่าในการรับไถ่ห้องชุดคอนโดมิเนียม จากการขายฝากภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รับซื้อฝากนั้น บริษัทฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสีย ภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ให้กรมสรรพากร บริษัทฯ จึงยื่นคำร้องขอขยาย กำหนดเวลาการชำระอากรแสตมป์ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
  3. กรมสรรพากรได้มีหนังสือ แจ้งบริษัทฯ ว่า อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการชำระ ค่าอากรแสตมป์ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทฯ โดยให้ บริษัทฯ ไปเสียอากรแสตมป์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ บริษัทฯ ไม่ต้องชำระเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร
  4. บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งจากกรมสรรพากรตาม 4. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ซึ่งอยู่ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และพนักงานบริษัทฯ ได้ปฏิบัติงาน ตามนโยบายของบริษัทฯ ที่ให้ปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) จนกว่าจะมีคำสั่ง เปลี่ยนแปลง บริษัทฯ จึงได้ไปยื่นแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน (แบบ อ.ส.4) เพื่อชำระ อากรแสตมป์ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ซึ่งเกิน กำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือฯ ทำให้บริษัทฯ ต้องเสียเงินเพิ่มอากร กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือเพิกเฉยไม่ชำระอากรแสตมป์ บริษัทฯ จึงขอขยายกำหนดเวลาการ ชำระค่าอากรแสตมป์และของดเงินเพิ่มดังกล่าว

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ ได้รับหนังสือจากกรมสรรพากรแจ้งการอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการชำระ ค่าอากรแสตมป์โดยให้บริษัทฯ ไปเสียอากรแสตมป์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องชำระเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ ไม่ได้ชำระค่าอากรแสตมป์ภายในระยะเวลาตามที่ กำหนดไว้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ได้รับสิทธิตามหนังสือฉบับดังกล่าว