views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้พึงประเมินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

วันที่: 7 พฤศจิกายน 2566
เลขที่หนังสือ

กค 0702/6419

วันที่

7 พฤศจิกายน 2566

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40 (1) และ (2) และมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 1 (ง) และ ข้อ 2 (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ

เลขตู้

-

ข้อหารือ

หน่วยงาน ก. เดิมเป็นส่วนราชการ ปัจจุบันมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ทำให้ข้าราชการบางส่วนแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานของหน่วยงาน ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ และหน่วยงาน ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับพนักงานของหน่วยงาน ที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของหน่วยงาน และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย หน่วยงาน ก. จึงขอหารือวิธีการคำนวณเงินได้พึงประเมินดังกล่าว ดังนี้
    1. การนับระยะเวลาการทำงานของพนักงานของหน่วยงาน จะนับต่อเนื่องจากการเป็นข้าราชการได้หรือไม่
    2. เงินชดเชยของพนักงานหน่วยงาน สามารถนำไปแยกคำนวณภาษี โดยใช้ใบแนบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ ได้หรือไม่ อย่างไร
    3. ในการแยกคำนวณภาษี เงินชดเชยที่พนักงานหน่วยงาน ก. ได้รับจะถือเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน หรือจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

แนววินิจฉัย

1. ตามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานฉบับใหม่ ได้กำหนดให้โอนบรรดาข้าราชการลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานของหน่วยงาน ตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนการแก้ไข มาเป็นข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการพนักงานราชการ และพนักงานของหน่วยงาน ตามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานฉบับใหม่
    2. กรณีตาม 1. หน่วยงาน ก. มีข้าราชการบางส่วนได้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานของหน่วยงาน โดยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายจัดตั้งหน่วยงานฉบับใหม่ ใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานของหน่วยงาน ตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนการแก้ไข ได้โอนมาเป็นข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานของหน่วยงาน ตามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานฉบับใหม่ แล้ว ต่อมาได้พ้นสภาพการเป็นพนักงานของหน่วยงาน และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเพราะเหตุออกจากงาน ในการนับจำนวนปีที่ทำงานก็สามารถนับระยะเวลาทำงานที่พนักงานของหน่วยงานดังกล่าวได้ทำงานอยู่ในหน่วยงาน ก. ตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนการแก้ไข ต่อเนื่องรวมกับระยะเวลาทำงานในหน่วยงงาน ก. ตามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานฉบับใหม่ ตามข้อ 2 (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
    3. กรณีตาม 2. และ 3. เนื่องจากกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานฉบับใหม่ กำหนดว่า “กิจการของหน่วยงาน ก.ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์...” ดังนั้น เงินที่หน่วยงาน ก. จ่ายให้พนักงานของหน่วยงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของหน่วยงานจึงไม่เป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เมื่อพนักงานของหน่วยงานได้รับเงินจากการพ้นสภาพการเป็นพนักงานของหน่วยงาน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยตามประกาศของหน่วยงาน ก. เงินดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามข้อ 1 (ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ผู้มีเงินได้จะมีสิทธิเลือกเสียภาษีแยกต่างหากโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี และแสดงรายการเงินดังกล่าวในใบแนบฯ ข้อ ก 5. สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา