views

เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับกิจการประกันวินาศภัย

วันที่: 2 มีนาคม 2561
เลขที่หนังสือ

กค 0702/พ.1832

วันที่

2 มีนาคม 2561

ข้อกฎหมาย

มาตรา 91/2 (3) มาตรา 91/5 (3) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ

เลขตู้

81/40588

ข้อหารือ

          1. สมาคมฯ มีบริษัทสมาชิกฯ ที่ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ประกอบด้วย การประกันอัคคีภัย การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง การประกันภัยรถยนต์ และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด เช่น การประกันสุขภาพ และการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นต้น การประกอบกิจการของบริษัทสมาชิกฯ มีทั้งรายได้ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายรับที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งบริษัทสมาชิกฯ ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้ หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท จึงต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535

          2 .สมาคมฯ ในฐานะตัวแทนของบริษัทสมาชิกฯ ขอชี้แจงดังนี้

               2.1ในการประกอบกิจการประกันวินาศภัย บริษัทสมาชิกฯ มีกรมธรรม์ประกันภัย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทการรับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกิจการประเภทรับประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นนอกเหนือจากการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันวินาศภัยที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

               2.2บริษัทสมาชิกฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการหลัก 4 ประเภท ดังนี้

                    (1)เบี้ยประกันภัยรับจากการรับประกันภัยนอกเหนือจากการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร มีเบี้ยประกันภัยเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร

                    (2)เบี้ยประกันภัยรับจากการรับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเป็นมูลค่าของฐานภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเบี้ยประกันภัยรับไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีธุรกิจเฉพาะ และไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้ที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 4 วรรคสอง (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535

                    (3)รายได้ดอกเบี้ยรับที่เกิดจากการนำเงินที่ได้รับจากการรับประกันภัยนอกเหนือจากการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไปลงทุน ซึ่งไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ใช่รายได้ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 4 วรรคสอง (ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535

                    (4)รายได้ดอกเบี้ยรับที่เกิดจากการนำเงินที่ได้รับจากการนำเบี้ยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไปลงทุน ซึ่งเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นฐานภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

               2.3บริษัทสมาชิกฯ มีความเข้าใจว่า ค่าเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลตาม 3.2 (2) ไม่ถือเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ในการเฉลี่ยภาษีซื้อ บริษัทสมาชิกฯ จึงไม่ได้นำค่าเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นฐานรายได้ของทั้งสองประเภทกิจการตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด สมาคมฯ จึงหารือว่า ความเข้าใจของบริษัทสมาชิกฯ ดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเป็นกรมธรรม์ที่มุ่งเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพของบุคคลหนึ่งเป็นสำคัญ จึงถือเป็นการรับประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษีสำหรับกิจการรับประกันชีวิต ได้แก่ ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ ตามมาตรา 91/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ค่าเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจึงไม่ใช่ฐานภาษีสำหรับกิจการรับประกันชีวิต บริษัทสมาชิกฯ จึงไม่ต้องนำค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับจากผู้เอาประกันภัยดังกล่าวมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และไม่ต้องนำค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นฐานรายได้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อทั้งในส่วนของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด