views

เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ใช้บริการวิจัย

วันที่: 20 มีนาคม 2561
เลขที่หนังสือ

0702/พ.2337

วันที่

20 มีนาคม 2561

ข้อกฎหมาย

มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

81/40607

ข้อหารือ

          1.สถาบันฯ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 8 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง รายชื่อผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559 ภายใต้ชื่อ ศูนย์วิจัย สถาบัน ว. (ศูนย์วิจัยฯ)

          2.เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 สถาบันฯ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ระบุประเภทของการประกอบกิจการ คือ ให้บริการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ โครงการวิจัย คอร์สพิเศษ ของที่ระลึก เช่าสถานที่ บริการวิชาการ จัดประชุมและที่ปรึกษา และได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558

          3.สถาบันฯ ขอทราบว่า กรณีที่ศูนย์วิจัยฯ มีฐานะเป็นหน่วยงานภายในของสถาบันฯ มีสถานประกอบการและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเลขเดียวกันกับของสถาบันฯ เมื่อใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.20) ระบุชื่อผู้ประกอบการ คือ สถาบัน ว. แต่ตามข้อกำหนดของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการยื่นคำขอเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559 กำหนดให้ใบรับที่ออกให้แก่ผู้รับบริการที่เป็นบุคคลอื่นจะต้องระบุชื่อศูนย์วิจัยฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการประกาศจากอธิบดีกรมสรรพากรนั้น หากสถาบันฯ ระบุชื่อศูนย์วิจัยฯ ไว้ในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ที่ออกให้แก่ผู้รับบริการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ย่อมทำให้ชื่อของผู้ประกอบการในใบกำกับภาษีดังกล่าวไม่ตรงกับชื่อผู้ประกอบการตามแบบ ภ.พ.20 อันจะเป็นเหตุให้ผู้รับบริการไม่สามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ใช่หรือไม่

แนววินิจฉัย

           กรณีสถาบันฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้ชื่อผู้ประกอบการว่า สถาบัน ว. ต่อมา สถาบันฯ ตั้งศูนย์วิจัยฯ เพื่อให้บริการทางด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยศูนย์วิจัยฯ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลำดับที่ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง รายชื่อผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559 แล้ว การประกอบกิจการของสถาบันฯ โดยศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สถาบันฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1 (1) และมาตรา 86 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อสถาบันฯ ได้ออกใบกำกับภาษีรวมในฉบับเดียวกันกับใบเสร็จรับเงิน (ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี) ให้แก่ผู้รับบริการ โดยสถาบันฯ ไม่ได้เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบการในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี แต่ได้เพิ่มคำว่า ศูนย์วิจัย หน้าชื่อสถาบันฯ ในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การออกใบรับตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่กำหนดในข้อ 7 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559 หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีดังกล่าวมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และการเพิ่มเติมข้อความหน้าชื่อผู้ประกอบการดังกล่าวไม่ทำให้ผู้รับบริการสำคัญผิดในตัวนิติบุคคล ผู้รับบริการย่อมมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้รับบริการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 391)ฯ ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559